วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สมาชิกกลุ่ม

สมาชิกกลุ่ม
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3
1.นาย ครองธรรม   ธรรมลิขิต      เลขที่ 10
2.นาย จิรภัทร          จารุทรรศนา  เลขที่ 11
3.นาย ศรวัส            เกตุแก้วมณี   เลขที่ 21
4.นาย อรรถวิท        ไชยโรจน์      เลขที่ 24


นำเสนอ 
อาจารย์จัตวา อรจุล

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive System)

ระบบสืบพันธุ์
ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system / Genital system) เป็นระบบของอวัยวะในร่างกายสิ่งมีชีวิตซึ่งทำงานร่วมกันโดยมีจุดประสงค์เพื่อการสืบพันธุ์เพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตให้มากขึ้น ในระบบนี้จำเป็นต้องอาศัยสารต่างๆ อาทิ ของเหลว ฮอร์โมน และฟีโรโมนหลายชนิดเพื่อช่วยเหลือในการทำงาน ระบบสืบพันธุ์เป็นระบบซึ่งแตกต่างจากระบบอวัยวะอื่นๆ กล่าวคือระบบเพศของสัตว์ต่างชนิดกันก็มีความแตกต่างกัน ความหลากหลายนี้ก่อให้เกิดการผสมรวมกันของสารพันธุกรรมระหว่างสิ่งมีชีวิตสองตัว เพื่อเพิ่มความสามารถในการดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมของลูกหลานต่อไป
สำหรับการสืบพันธุ์ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Sexual Reproduction) จะมีการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม จึงมีการแปรผันทางพันธุกรรม 

2.การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (Asexual Reproduction) ลูกหลานที่เกิดจากลักษณะนี้จะไม่มีความแตกต่างจากพ่อแม่

ระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์
อวัยวะสำคัญของระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ อาทิ อวัยวะเพศภายนอก (องคชาตและช่องสังวาส) และอวัยวะภายในจำนวนมากได้แก่ต่อมเพศซึ่งผลิตเซลล์สืบพันธุ์ (อัณฑะและรังไข่) โรคในระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ซึ่งมักจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นพบได้บ่อยและแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง
โดยทั่วไป สัตว์มีแกนสันหลังชนิดอื่นๆ มีระบบสืบพันธุ์ที่ประกอบด้วยต่อมเพศ ท่อและรูเปิดคล้ายคลึงกับมนุษย์ แต่ก็มีความหลากหลายทางกายภาพอันเกิดจากการปรับตัวในสัตว์มีแกนสันหลังทุกกลุ่ม
การสืบพันธุ์ของมนุษย์เกิดขึ้นแบบปฏิสนธิภายในโดยการร่วมเพศ ในกระบวนการดังกล่าวองคชาตของเพศชายจะสอดใส่ในช่องคลอดของเพศหญิงจนกระทั่งเพศชายหลั่งน้ำอสุจิซึ่งประกอบด้วยอสุจิประมาณ 70 ล้านตัวเข้าไปในช่องคลอดของเพศหญิง อสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชายจำนวนมากจะเคลื่อนที่ผ่านช่องคลอดและปากมดลูกเข้าไปในมดลูกหรือท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับไข่ หลังการปฏิสนธิและฝังตัวจะเกิดการตั้งครรภ์ของทารกในครรภ์ขึ้นภายในมดลูกของเพศหญิงซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 เดือน การตั้งครรภ์จะสิ้นสุดลงเมื่อทารกคลอด การคลอดนั้นต้องอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก การเปิดออกของปากมดลูก แล้วทารกจึงจะผ่านออกมาทางช่องคลอดได้ ทารกนั้นจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องอาศัยการดูแลจากผู้ปกครองเป็นเวลาหลายปี หนึ่งในการดูแลดังกล่าวคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งต้องอาศัยต่อมน้ำนมที่อยู่ภายในเต้านมของเพศหญิง
ในมนุษย์มีการเจริญและพัฒนาของระบบสืบพันธุ์อย่างมากมาย นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกอวัยวะในระบบสืบพันธุ์แล้วนั้น ยังพบการเปลี่ยนแปลงอีกในลักษณะเฉพาะทางเพศขั้นทุติยภูมิ (Secondary sexual characteristics)
ระบบสืบพันธุ์เพศชาย
ระบบสืบพันธุ์เพศชายประกอบด้วยอวัยวะที่อยู่ภายนอกร่างกายและรอบๆ บริเวณเชิงกรานซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการสืบพันธุ์ หน้าที่หลักโดยตรงของระบบสืบพันธุ์เพศชายคือการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศชายหรือสเปอร์มาโทซัว (spermatozoa) เพื่อใช้ผสมพันธุ์กับไข่
อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือการสร้างและเก็บตัวอสุจิ การสร้างตัวอสุจิเกิดขึ้นภายในอัณฑะที่อยู่ภายในถุงอัณฑะซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม อสุจิที่ยังไม่เจริญเต็มที่จะเคลื่อนที่ไปยังเอพิดิไดมิส (epididymis) เพื่อพัฒนาและกักเก็บ อวัยวะในกลุ่มที่สองคือต่อมสร้างของเหลวในการหลั่งน้ำอสุจิซึ่งได้แก่ถุงน้ำอสุจิ (seminal vesicles), ต่อมลูกหมาก (prostate) และหลอดนำอสุจิ (vas deferens) และในกลุ่มสุดท้ายคืออวัยวะที่ใช้ในการร่วมเพศและหลั่งน้ำอสุจิในเพศหญิงได้แก่องคชาต ท่อปัสสาวะ หลอดนำอสุจิ และต่อมคาวเปอร์
ลักษณะเฉพาะทางเพศขั้นทุติยภูมิในเพศชายได้แก่ การมีร่างกายสูงใหญ่ โครงร่างกายมีกล้ามเนื้อมากขึ้น เสียงห้าวทุ้ม มีขนตามใบหน้าและลำตัว ไหล่กว้างขึ้น การเจริญของลูกกระเดือกฮอร์โมนที่สำคัญในเพศชายคือแอนโดรเจนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทสโทสเตอโรน
เรื่องน่ารู้ : รูปร่างขององคชาตมนุษย์มีความแตกต่างจากญาติใกล้ชิดมาก ทั้งเรื่องขนาดและรูปร่าง สาเหตุไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยภายใน หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม
ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วยอวัยวะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในร่างกายและรอบๆ บริเวณเชิงกรานซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการสืบพันธุ์ ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ช่องคลอดทำหน้าที่รองรับอสุจิจากเพศชาย มดลูกซึ่งช่วยรองรับทารกในครรภ์ และรังไข่ทำหน้าที่ผลิตไข่ เต้านมก็เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในระยะการดูแลทารก ถึงแม้หลายๆ ตำราจะไม่ถือว่าเป็นก็ตาม
ช่องคลอดจะเปิดออกภายนอกที่โยนีซึ่งประกอบด้วยแคม คลิตอริส และท่อปัสสาวะ ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์บริเวณเหล่านี้จะหล่อลื่นด้วยเมือกซึ่งคัดหลังจากต่อมบาร์โธลีน (Bartholin's glands) ช่องคลอดต่อเนื่องกับมดลูกโดยมีปากมดลูกอยู่ระหว่างกลาง ในขณะที่มดลูกต่อเนื่องกับรังไข่ผ่านทางท่อนำไข่ ในทุกๆ ช่วงรอบประมาณ 28 วันรังไข่จะปล่อยไข่ออกมาผ่านท่อนำไข่เข้าไปยังมดลูก เยื่อบุมดลูกซึ่งดาดอยู่ด้านในมดลูกและไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิจะไหลออกและถูกกำจัดออกไปทุกรอบเดือน ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า การมีประจำเดือน (menstruation)
ลักษณะเฉพาะทางเพศขั้นทุติยภูมิในเพศหญิงได้แก่ การมีร่างกายเล็กกว่าเพศชาย ร่างกายมีร้อยละของไขมันสูง สะโพกกว้างขึ้น การเจริญของต่อมน้ำนมและเต้านมขยายขนาด ฮอร์โมนเพศที่สำคัญในเพศหญิงคือเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรน
การเกิดเซลล์สืบพันธุ์ (gametogenesis)
คือกระบวนการอย่างหนึ่งในสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นการแบ่งเซลล์และทำให้เกิดความแตกต่างกันของเซลล์แม่ (gametocyte) ที่มีโครโมโซมสองชุด (diploid) หรือชุดเดียว (haploid) ให้กลายเป็นเซลล์สืบพันธุ์ (gamete) ที่มีโครโมโซมเพียงชุดเดียว การเกิดเซลล์สืบพันธุ์เกิดจากการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส (meiosis) หรือไมโทซิส (mitosis) ขึ้นอยู่กับวงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
สัตว์ประเภทต่างๆ จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์โดยตรงด้วยการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสด้วยอวัยวะที่เรียกว่าต่อมบ่งเพศ (gonad) สัตว์สปีชีส์หนึ่งๆ ที่ขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศมีรูปแบบการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
    ในเพศผู้เรียกว่า การสร้างสเปิร์ม (spermatogenesis) เกิดขึ้นที่อัณฑะ
    ในเพศเมียเรียกว่า การสร้างไข่ (oogenesis) เกิดขึ้นที่รังไข่


ถึงแม้ใช้อวัยวะที่แตกต่างกันแต่กระบวนการนั้นยังมีรูปแบบที่เหมือนกัน กล่าวคือ เซลล์ตั้งต้นจะเรียกว่าแกมีโทโกเนียม (gametogonium) จะแบ่งตัวแบบไมโทซิสเข้าสู่ช่วงแกมีโทไซต์ระยะแรก (primary gametocyte) และแบ่งตัวแบบไมโอซิสเข้าสู่แกมีโทไซต์ระยะที่สอง (secondary gametocyte) แล้วแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสอีกครั้งจนได้แกมีทิด (gametid) จำนวน 4 เซลล์ต่อเซลล์แม่ 1 เซลล์ สุดท้ายแกมีทิดจะเจริญไปเป็นสเปิร์มหรือไข่ ซึ่งเป็นแกมีต (gamete) ในขั้นตอนสุดท้าย

แหล่งอ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/ระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์
                       http://en.wikipedia.org/wiki/Reproductive_system

สมาชิกกลุ่ม
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3
1.นาย ครองธรรม   ธรรมลิขิต      เลขที่ 10
2.นาย จิรภัทร          จารุทรรศนา  เลขที่ 11
3.นาย ศรวัส            เกตุแก้วมณี   เลขที่ 21
4.นาย อรรถวิท        ไชยโรจน์      เลขที่ 24